Friday, March 4, 2011

รู้ได้อย่างไรว่าทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง

แพทย์สามารถตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ได้หลายวิธีได้แก่

1. การวัดความสูงยอดมดลูก เมื่อมาฝากครรภ์ทุกครั้งเป็นการตรวจการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ทางอ้อม เพราะถ้าทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงจะมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดมดลูกสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงระยะตั้งครรภ์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 18 ถึงสัปดาห์ที่ 34

2. การตรวจการดิ้นของทารกในครรภ์ ซึ่งแม่รับรู้การดิ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ขึ้นไป การที่เด็กดิ้นน้อยลงมักพบร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง และอยู่ในภาวะอันตราย ทารกจะดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นประมาณ 12-48 ชั่วโมง ก่อนตาย การที่ทารกดิ้นน้อยลงจึงเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะเมื่อตั้งครรภ์ตั้งแต่ 32 สัปดาห์ ขึ้นไป

3. การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตร้าซาวด์ เป็นการตรวจโครงสร้างและอวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์ ว่าเจริญเติบโตปกติหรือไม่ และใช้ค้นหาความพิการแต่กำเนิด นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของทารก ปริมาณน้ำคร่ำ ลักษณะของรกและตำแหน่งที่รกเกาะและสายสะดือ

การตรวจสามารถทำได้ 2 ทาง คือ การตรวจผ่านทางช่องคลอด และการตรวจผ่านหน้าท้องมารดา เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในปัจจุบันมีการพัฒนาไปมาก มีทั้งแบบ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถเห็นและตรวจทารกในครรภ์ได้ชัดเจนขึ้น

4. การนำเซลล์ของทารกในครรภ์มาตรวจหาโครโมโซม หรือดีเอ็นเอ ในรายที่สงสัยว่ามีโรคทางพันธุกรรมชนิดต่างๆ เช่น กลุ่มอาการดาวน์และโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น วิธีการในการนำเซลล์ทารกในครรภ์มาตรวจ ได้แก่ การเจาะดูดน้ำคร่ำ การตัดเนื้อรก และการเจาะดูดเลือดทารกโดยตรง

5. การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกโดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ โดยอาศัยหลักการว่า ถ้าทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงไม่ขาดออกซิเจน เมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ ขึ้นไป เมื่อทารกดิ้นจะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจทารกเร็วขึ้น





สิ่งที่กระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์

1. โรคของแม่ เช่น โรคเบาหวาน อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด ตายในครรภ์หรือตายคลอด โรคความดันโลหิตสูง อาจทำให้ทารกเติบโตช้าในครรภ์ โรคหัวใจ อาจทำให้ทารกขาดออกซิเจนและเติบโตช้าในครรภ์ การติดเชื้อหัดเยอรมันในการตั้งครรภ์ระยะแรก อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด เป็นต้อกระจก หูหนวก และเติบโตช้าในครรภ์ โรคซิฟิลิส อาจทำให้ทารกบวมน้ำ และเสียชีวิตในครรภ์ เป็นต้น การควบคุมหรือรักษาโรคที่แม่เป็นก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบถึงทารก

2. บุหรี่ จะสูบเองหรือสูดควันบุหรี่ของผู้อื่นระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้แม่ได้รับสารเคมีต่างๆ จากบุหรี่มากกว่า 250 ชนิด สารที่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์มากที่สุด ได้แก่ คาร์บอนมอนนอกไซด์ และนิโคติน ซึ่งทำให้ทารกเติบโตช้า คลอดก่อนกำหนด ซึ่งมีผลต่อสมอง เกิดภาวะปัญญาอ่อนได้ และบุหรี่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ได้ เช่นรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด และถุงน้ำคร่ำแตก ทำให้คลอดก่อนกำหนดและทารกเสียชีวิตตามมา

3. แอลกอฮอล์ การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขนาดเล็กน้อยในขณะตั้งครรภ์ อาจมีผลเสียต่อทารกในครรภ์ทั้งร่างกายและสติปัญญา โดยการดื่มในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะความพิการทางสมอง

การดื่มแอลกอฮอล์ ในระยะการตั้งครรภ์ช่วงกลางและระยะท้าย อาจทำให้ทารกเติบโตช้า ปัญญาอ่อน สมองเล็ก รูปร่างสมองผิดปกติ สติปัญญาต่ำ สมาธิสั้น และมีปัญหาทางพฤติกรรมตามมาเมื่อโตขึ้น มารดาที่ติดเหล้าคือดื่มปริมาณมากและดื่มบ่อยมีผลทำให้เกิดการแท้ง ทารกน้ำหนักน้อย และตายคลอดเพิ่มขึ้น

4. พฤติกรรมของแม่ การดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ และครบ 5 หมู่ การออกกำลังกายที่เหมาะสม การหลีกเลี่ยงการรับประทานยา โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร การหลีกเลี่ยงสารเสพติดทุกชนิดเช่น โคเคน กัญชา เฮโรอีน ยาบ้า ยาเค ยาอี การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พฤติกรรมของมารดาที่ดี จะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีการพัฒนาการที่ปกติ

5. จิตใจของแม่ แม่ที่มีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า และคลอดก่อนกำหนด

6. พ่อคุณภาพ คือ พ่อที่มีภรรยาเพียงคนเดียว งดเว้นอบายมุขทุกชนิด นับถือศาสนาโดยเคร่งครัด ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่นำโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาติดภรรยา ดูแลเอาใจใส่ตลอดการตั้งครรภ์ และหลังคลอด ให้กำลังใจและช่วยทำทุกอย่างเพื่อลดความวิตกกังวลของแม่ นอกจากนี้ควรมีส่วนช่วยในการเลี้ยงดูบุตรหลังคลอดด้วย

No comments: